ประชาสังคมชี้การเมือง-คอร์รัปชันต้นตอปัญหาความเหลื่อมล้ำ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ความไม่เท่าเทียมทางสังคม (Social inequality)”
โดยมี นักวิชาการ นักธุรกิจ และตัวแทนสื่อสารมวลชน ร่วมระดมความเห็น
นายพารณ อิศรเสนาฯ กรรมการ สศช. มองว่า ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมาโดยตลอด และตนเองก็เคยพูดในที่ประชุมคณะกรรมการสภาพัฒน์ ว่าทำไมเราไม่เอามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งประเทศมาร่วมกันทำวิจัยว่าที่จริงแล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้คุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปแล้วว่าเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเดือนที่แล้วก็ได้คุยกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทำการวิจัยเรื่องนี้ โดยเอามหาวิทยาลัยทั้งหลายมาทำวิจัยว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร เพราะถ้าไปถามคนภาคเหนือ ภาคอีสาน จะพบว่ามีหลายปัญหาที่ไม่ตรงกัน จึงเห็นว่าเราควรไปสอบถามชาวบ้าน ว่าอะไรคือเหตุของปัญหา และทางแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร
นายวิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนหลากหลาย บางครั้งอาจจะไม่ใช่เรื่องของตัวเงิน แต่เป็นเรื่องทางความรู้สึก เมื่อไหร่ที่การเปรียบเทียบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมคนก็จะแสดงออกมา จึงคิดว่าควรให้ระบบสถาบันการศึกษาลงมาช่วยศึกษาให้เป็นระบบลงไปถึงความรู้สึกลึกๆ ของคนในสังคม และชุมชน อย่างในปี 2516 และ 2519 เราเคยให้นักศึกษาลงไปในพื้นที่เยอะมาก แต่ก็ลงไปผิด เพราะไปสอนชาวบ้าน แทนที่จะไปเรียนรู้จากชาวบ้าน
นอกจากนี้สังคมยุคใหม่ยังต้องมีการเรียนรู้ที่สูงขึ้น เพราะข้อมูลข่าวสารที่สื่อออกไปส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์ของตัวเองแล้วไปทำร้ายคนอื่น แต่สังคมยังกรองสื่อที่ออกมาไม่เป็น ยังขาดทักษะในการเรียนรู้ เราจึงต้องตั้งโจทย์เรื่องการศึกษาเรียนรู้ให้ได้ เพราะสภาพการศึกษาในปัจจุบันยังไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาใหม่ เพราะสังคมเปลี่ยนไปเพียงไม่กี่แห่ง จึงต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องและสร้างเครื่องมือที่ดีให้แก่เกษตรกร และตัวที่ที่ใหญ่ที่สุดคือกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ต้องเข้าไปดูแลเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีมาตรการช่วยเหลือบ้างแล้ว และอาจจะมีการจัดทำแพ็คเกจสำหรับคนที่เกิดในไทยว่าเมื่อเกิดแล้วรัฐจะมีอะไรให้แก่เขาบ้าง จากนั้นจึงค่อยไปดูวิธีจัดการเงินที่จะนำมาใช้ นอกจากนี้ในส่วนของคนทำงานอาจจะมีกระบวนการทางกฎหมายให้นายจ้างฝึกอบรมแรงงาน รวมทั้งให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มากขึ้น
นายณรงค์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการเครือสหพัฒน์ มองว่า คิดว่าการแก้ไขปัญหา ถ้าเราเจอปัญหาอะไร อย่าเพิ่งสรุปว่าปัญหาเกิดจากจุดนั้น แต่ต้องมีคำถามอย่างน้อย 5 ชุด เพื่อสำรวจไปถึงปัญหาแท้จริงว่าเกิดจากอะไร เพื่อให้เข้าถึงต้นเหตุของปัญหา ซึ่งปัญหาขณะนี้ สิ่งที่คนไม่อยากแตะ คือ การเมือง ประชาชนต้องรู้ว่า รัฐบาล นายกรัฐมนตรี และส.ส. เป็นลูกจ้างไม่ใช่ผู้ปกครอง ไม่ใช่ประชาชนไปลงลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว อำนาจจะเป็นของนักการเมือง และประชาชนต้องฟังค่ำสั่ง เรื่องนี้ถ้าไม่แก้ตรงยอด ก็คงคุยกันอีก 100 ปี 100 ชาติก็แก้ไม่ได้
"การยึดอำนาจรัฐมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ เอารถถัง ปืนใหญ่ ออกมา ถ้ายึดไม่สำเร็จเป็นกบฏ แต่ตอนนี้เรายึดอำนาจรัฐด้วยการเลือกตั้งใช้เงิน ซื้อ ส.ส. พรรคการเมือง กกต. ข้าราชการ เพราะถ้าชนะได้อำนาจรัฐมหาศาล มีงบประมาณล้านล้านบาทในมือ ออกกฎหมาย ปรับกฎเกณฑ์อะไรก็ได้ เป็นเผด็จการการเลือกตั้ง แม้จะแพ้เลือกตั้ง ก็ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ ตอนนี้นิยมกันมาก และใช้เงินมากขึ้น จากหลักร้อยล้าน เป็นหลักพันล้าน หมื่นล้าน จนเกิดการทุจริตรวยกันเป็นหมื่นล้านแสนล้านบาท โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่คนที่ทำงานแทบตายต้องเสียภาษี "
ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากเผด็จการ การเลือกตั้ง ทำให้คนไทยขัดแย้งกันมาก ตั้งแต่ในหมู่บ้าน ที่มีหัวคะแนนพรรคการเมืองเข้าไป ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ แตกหมด แม้แต่นักธุรกิจก็ยังถูกบังคับให้เลือกข้าง ถ้าไม่เลือกอย่าหวังว่าจะประมูลงานรัฐได้ ดังนั้นการปฏิรูปประเทศไทย ต้องปฏิรูปจิตสำนึกคนไทย ทำให้การเมือง เป็นการเมืองเพื่อประโยชน์ชาวบ้านให้ได้ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนที่ถูกต้องในเรื่องการเลือกตั้ง
ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทุกสังคมในโลกมีความแตกต่าง เป็นไม่ได้ที่ทุกสังคมจะมีความเท่าเทียม เพื่อความเป็นธรรมควรมีการปรับระบบจัดเก็บภาษีจากคนรวย ไม่ใช่เก็บจากคนจน ปรับระบบภาระภาษีให้เป็นภาษีทางตรงไม่ใช่ทางอ้อม แล้วรัฐก็เอาภาษีที่เก็บได้ไปทำในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และจัดทำระบบบริการฟรีของรัฐให้ประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน
นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานสาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมต้องมีมาตรการทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมาตรการระยะยาวคงหนีไม่พ้นการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนส่วนใหญ่ ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นจุดที่ต้องทำให้เกิดการปรองดอง เพราะถ้าไม่มีกระบวนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคนก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยุยงได้อีก ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้สอนคนให้แยกแยะ และคิดว่ามาตรการด้านการเงินการลงทุนส่วนหนึ่งที่ควรจะนำมาใช้คือการปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น กว่าการจัดสรรให้แก่โรงเรียนในส่วนกลาง และอย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
"สองปีก่อน เคยศึกษาและสอบถามคนในชนบทเรื่องปัญหาทุจริต คอร์รัปชันเขาตอบว่า ไม่ว่านักการเมืองจะโกงกินยังไงเขาไม่สนใจ เพราะเขาจนไม่ต้องเสียภาษี เราถามว่าเคยไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือไม่ เขาบอกว่าเคย แต่เขาไม่รู้ว่าต้องเสียภาษีทางอ้อม อีกกรณีหนึ่งถามเด็กอีสานว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร เขาตอบว่าอยากเป็นเมียฝรั่ง ถือเป็นเรื่องที่ต้องปรับทัศนคติของชาวบ้าน"
ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ การเมือง : บทวิเคราะห์ วันที่ 15 มิถุนายน 2553