News

สกัด ดื้อไม้เรียว เลิกลงโทษรุนแรง

ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงในโรงเรียนประการหนึ่ง คือความรุนแรงที่เกิดจากวิธีการสร้างวินัยของครูที่ใช้กับนักเรียน ลงโทษเมื่อนักเรียนทำผิดระเบียบหรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
สังคมมักจะยอมรับพฤติกรรมเช่นนี้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติต่อๆ กันมา เช่น ตามสุภาษิตว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี"

การลงโทษด้วยความรุนแรง หมายความรวมถึงการทำโทษทางร่างกาย เช่น ตีด้วยมือหรือวัตถุบางอย่าง เช่น ไม้เรียว เข็มขัด แส้ รองเท้า ฯลฯ เตะ จับเขย่า หยิก ดึงผม บังคับให้อยู่ในท่าที่ไม่สบายหรือเสียศักดิ์ศรี ให้ออกกำลังมากเกินควร เช่น วิดพื้น วิ่งรอบสนาม ใช้สิ่งของที่ร้อนนาบตามตัว รวมถึงการขู่ว่าจะทำสิ่งเหล่านี้ด้วย

การลงโทษที่เป็นความรุนแรงต่อจิตใจหรือทำร้ายจิตใจ เช่น ดุด่า เยาะเย้ยถากถาง ประจาน แยกให้โดดเดี่ยว หรือแกล้งเพิกเฉยไม่สนใจเด็ก เป็นต้น

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ในรายงานการสำรวจทัศนคติต่อการสร้างวินัย และพฤติกรรมในการสร้างวินัยของครูต่อนักเรียนว่า มีเหตุผลหลายประการที่มีผู้รวบรวมไว้ ซึ่งสนับสนุนให้กำจัดการลงโทษแบบนี้ ได้แก่

 - ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก ซึ่งย่อมมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยความปลอดภัย มีศักดิ์ศรีและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา พัฒนาตนเอง มีสุขภาพดีและมีชีวิตรอดอยู่ได้

- อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายและจิตใจเด็ก

- สอนให้เด็กเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และยอมรับได้ในการแก้ไขความขัดแย้ง หรือทำให้คนอื่นทำตามความต้องการของตนเอง

- เป็นวิธีการสร้างวินัยที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีวิธีอื่นๆ ที่มีผลดีกว่าต่อพัฒนาการของเด็ก และความสัมพันธ์ของเด็กกับครู พ่อแม่ และชุมชน เราสามารถนำวิธีเหล่านั้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

- การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง เป็นการรับรองอย่างเป็นนัยๆ ว่าการใช้ความรุนแรงกับเด็กในบางระดับเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ ทำให้การคุ้มครองเด็กทำได้ลำบาก


การลงโทษเด็กด้วยวิธีนี้เป็นการเพิ่มความรุนแรงในสังคมโดยรวม ทำให้คนรุ่นต่อไปถือเอาว่าตนเองย่อมทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำสืบต่อกันมา

- เป็นการส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานสองระดับในสังคม คือในขณะที่ผู้ใหญ่จะไม่ยอมให้ใครทำร้าย ทุบตี หรือแม้กระทั่ง "หมิ่นประมาท" ให้เสียศักดิ์ศรี สามารถฟ้องร้องให้ลงโทษตามกฎหมายได้ แต่เด็กซึ่งตัวเล็ก อ่อนแอกว่า และไม่มีทางสู้ ผู้ใหญ่กลับสามารถทุบตีหรือทำร้าย ดุด่า เยาะเย้ย ประจานได้โดยไม่มีความผิด

ผลเสียของการลงโทษมีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายคือการบาดเจ็บ เนื่องจากเมื่อลงโทษแล้วมักจะต้องลงโทษซ้ำอีกบ่อยๆ กับเด็กคนเดิม เพราะการลงโทษแบบนี้ไม่ได้ทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรม หรือยิ่ง "ดื้อไม้เรียว" ซึ่งมักทำให้ผู้ลงโทษโมโหและทำรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดทำให้เด็กบาดเจ็บ พิการ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้

ผลกระทบที่ร้ายแรงซึ่งเกิดต่อเด็ก คือผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ คือ

- ทำให้เด็กเสียความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง และคาดหวังตนเองในทางลบ

- ขัดขวางกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการทางความคิด อารมณ์ และการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของเด็ก ทำให้เด็กไม่ชอบและไม่อยากไปโรงเรียนในที่สุด

- ขัดขวางการใช้เหตุผลของเด็ก เพราะการลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดคุยโต้ตอบหรือตรึกตรอง ทำให้เด็กไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและผลที่ติดตามมา

- ทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว เศร้า และถูกทอดทิ้ง บั่นทอนความเชื่อมั่นในสังคมว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ปกป้องคุ้มครองเด็กจากอันตราย ทำให้เด็กมีทัศนคติในทางลบต่อคนอื่นๆ และมองสังคมว่าเป็นที่ซึ่งน่ากลัว

- ขัดขวางการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก (หรือครูกับนักเรียน) ทำลายความผูกพันทางอารมณ์และความไว้วางใจระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการทารุณกรรมเด็ก

- สอนให้เด็กเชื่อมโยงเอาความรุนแรงเข้ากับความรัก เพราะคนที่น่าจะรักเด็ก (เช่น พ่อแม่หรือครู) กลับเป็นผู้ที่ทำร้ายเด็กเสียเอง ทำให้เด็กเกิดความเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาและยอมรับได้ (และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงของเด็กเองในความสัมพันธ์กับผู้อื่นในอนาคต)


- กระตุ้นความโกรธและความต้องการที่จะหนีออกจากบ้าน (หรือหนีไปจากโรงเรียน)

- การสื่อสารถึงเด็กที่ชัดเจนที่สุด แม้ว่าผู้ใหญ่จะไม่ได้มีเจตนาที่จะทำเช่นนั้น คือการสื่อให้รู้ว่าการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ เป็นความเชื่อว่าการที่คนที่แข็งแรงกว่าจะใช้กำลังบังคับคนที่อ่อนแอกว่านั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

- ความรุนแรงย่อมกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงต่อไปอีก เป็นการสอนเด็กว่าการใช้ความรุนแรงหรือการแก้แค้นเป็นการแก้ปัญหา และเด็กย่อมเลียนแบบตามอย่างที่เห็นจากผู้ใหญ่ เด็กที่เคยถูกทำร้ายหรือทารุณกรรม เมื่อโตขึ้นจะมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่อไป

- เด็กที่ถูกลงโทษด้วยความรุนแรงมักเป็นคนที่เข้าสังคมยาก

- การลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ได้สอนให้เด็กร่วมมือกับผู้ใหญ่ เป็นเพียงการบังคับให้ฝืนใจยอมทำตามกฎระเบียบหรือไม่ก็พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเมิดกฎเมื่อทำได้เท่านั้น

ด้วยเหตุผลนานัปการดังที่ได้กล่าวมา คณะกรรมการสิทธิเด็ก องค์กรระดับนานาชาติที่ได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ เพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child - UNCRC) จึงยืนยันตลอดมาว่าการยอมรับการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงนั้นขัดแย้งกับหลักการของ UNCRC

คณะกรรมการเสนอให้กำจัดการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบรวมถึงในครอบครัวด้วย และให้รณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงผลเสียของการลงโทษด้วยความรุนแรง สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาวิธีการเลี้ยงดูเด็กในด้านบวกและไร้ความรุนแรง ทั้งในบ้านและโรงเรียนทั่วทุกแห่งในมากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ในประเทศไทย แม้ว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2543 ระบุว่า "การลงโทษนักเรียนมี 5 สถาน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำกิจกรรม ทำทัณฑ์บน พักการเรียนและให้ออก โดยห้ามลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้งหรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท หรือลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กําลังเจ็บป่วย หรือกําลังมีปัญหากระทบกระเทือนใจอย่างแรง และไม่คํานึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา" แต่ในสภาพความเป็นจริง เนื่องจากทัศนคติของครูและผู้ปกครองยังไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้เป็นที่สงสัยว่าครูส่วนใหญ่ยังลงโทษเด็กด้วยวิธีเดิมอยู่ต่อไป

หรือแม้ครูบางคนจะพยายามเลี่ยงการตีเด็กโดยตรง แต่ก็ยังใช้วิธีการลงโทษที่เป็นความรุนแรงในลักษณะต่างๆ อยู่ เช่น การทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด ด้วยการเพิกเฉย การประจานให้อับอายต่อหน้าเพื่อน หรือวิธีที่รุนแรงอื่นๆ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นครั้งคราว

เมื่อนักเรียนบาดเจ็บมากหรือผู้ปกครองไปแจ้งตำรวจหรือสื่อมวลชน หรือมีปัจจัยอื่น เช่น ระบบการศึกษาที่ครูไม่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาอย่างดีในด้านการจัดการกับพฤติกรรมเด็กที่เป็นปัญหา การที่ครูต้องรับภาระงานหนักเกินไปในขณะที่ได้ค่าตอบแทนน้อย ห้องเรียนที่มีนักเรียนแออัดกันอยู่มากเกินควรในห้องเรียนเล็กๆ ที่สภาพแวดล้อมอาจไม่น่ารื่นรมย์ และทัศนคติต่อการศึกษาที่มองว่านักเรียนเป็นเพียงผู้คอยรับการถ่ายทอดความรู้จากครูอย่างเชื่อฟังและยอมตามโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของเด็ก

ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นสถานการณ์ที่ครูจะต้องดุ คอยควบคุมและในที่สุดก็ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติของเด็กที่ต้องการเรียนรู้ด้วยการมีส่วนร่วมค้นคว้าแสวงหาด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่เรียนรู้ด้วยความกลัวที่จะถูกลงโทษเท่านั้น

"โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน เราทุกคนชอบไปโรงเรียน ชอบไปๆ โรงเรียน" หากการลงโทษอย่างรุนแรงถูกยุติลง บทเพลงนี้คงจะกึกก้องอยู่ในใจของเด็กนักเรียนทุกคนตลอดไป

สนใจข้อมูลการดูแลเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง ติดต่อได้ที่โครงการรณรงค์ Start to Stop หยุดความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร.0-2412-0738 0-2412-9834 หรือ www.thaichildrights.org

ที่มา  www.thainewsland.com

Tel: 02-727-3503-5, 02-377-5206
Fax: 02-374-7399