News

คืนน้ำสัมผัสชีวิต ป่าแก่งกระจาน

หลังได้รับแต่งตั้งเป็น "ทูต WWF" คนแรกของประเทศไทยได้ไม่นาน บีม กวี ตันจรารักษ์ เดินหน้าประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึกคนไทยให้หันมาใส่ใจและร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด บีมออกภาคสนาม เป็นไกด์นำทีมน้องๆ เยาวชนที่เป็นอาสาสมัคร WWF ประเทศไทย ที่มีใจรักธรรมชาติกว่า 20 คน ลุยป่าและผืนน้ำชมธรรมชาติที่สมบูรณ์ และชมวิถีชีวิตสัตว์ป่าและมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียน ในโครงการ "เยาวชนอาสา อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นมรดกอาเซียน และอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก

หลังเดินทางถึงที่หมายด้วยรถบัสของกองทัพอากาศ อาสาสมัครกว่า 20 ชีวิตก็เริ่มกิจกรรมแรก เจ้าหน้าที่อุทยานพาทุกคนไปเขาพะเนินทุ่ง เพื่อไปยังต้นน้ำเพชรบุรี แม่น้ำสายหลักที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวเพชรบุรี ทุกคนได้กินข้าวห่อใบตองซึ่งย่อยสลายง่าย

อิ่มท้องกันแล้ว เจ้าหน้าที่พาทุกคนลงเนินสู่แม่น้ำเพื่อทดสอบความสมบูรณ์ของสภาพน้ำโดยวัดค่าด้วยตาเปล่า ใช้แว่นขยายและกระชอนเป็นเครื่องมือ ทุกคนตั้งใจกันมากเพราะอยากรู้ว่าแม่น้ำสายนี้จะมีสภาพอย่างไร

 ขั้นตอนแรกเริ่มที่นำกระชอนเล็กๆ มาช้อนตะกอนในน้ำเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตและใช้แว่นขยายส่องว่าเป็นสัตว์ชนิดใด โดยจะวัดค่าความสมบูรณ์จากสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำ โดยจะมีระดับการวัดความสมบูรณ์ของน้ำทั้งหมด 10 ระดับ ผลการทดสอบทำให้ทุกคนมีรอยยิ้ม เพราะในน้ำมีตัวอ่อนชีปะขาวอาศัยอยู่ สัตว์ชนิดนี้จะอยู่ในน้ำที่สะอาดมาก

จากนั้นเดินทางกันต่อด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อก่อนต่อแพเข้าไปยังหมู่บ้านโป่งลึก โดยมีนายลอย จีบ้ง ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนนำทางและเป็นล่ามบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกร่างที่ใช้ชีวิตอยู่กันแบบเรียบง่าย ไม่มีไฟฟ้าใช้ ปลูกข้าว ปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ โดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เด็กๆ ที่นี่แม้จะดูตัวเล็กแกร็นแต่แข็งแรงปราดเปรียว วิ่งขึ้นลงเนินเขาและปีนต้นไม้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว

คณะอาสาสมัครนั่งแพข้ามฝั่งเดินทางไปต่อรถเพื่อไปดูนกนานาชนิดอีกด้านของเขาพะเนินทุ่ง ทุกคนใจจดจ่อกับการดูนกบนฟ้า เอามาเปรียบเทียบกับรูปในหนังสือ ก่อนกลับยังโชคดีเมื่อได้เห็น "ค่างแว่นถิ่นใต้" สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ออกมาโหนต้นไม้อวดโฉม

บีม กวี ตันจรารักษ์ อายุ 27 ปี นิสิตปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตร MBA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาชมความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและต้นน้ำ และดีใจที่ได้เป็นตัวแทนพาน้องๆ เยาวชนมาสัมผัสและเรียนรู้ปัญหาธรรมชาติ เพื่อจะได้เป็นกระบอกเสียงช่วยกันรณรงค์รักษาธรรมชาติ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ป่าที่นี่สมบูรณ์มากและยังเป็นตัวดูดซับก๊าซที่มีผลกระทบกับวิกฤตเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน

"ผมจะช่วยประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ส่วนน้องๆ เยาวชนที่อยากมีส่วนช่วยก็แค่ไม่ทิ้งขยะซึ่งจะเป็นภาระให้โลก หรืออาจเข้ามาเป็นอาสาสมัคร WWF โดยติดต่อที่ www.wwfthai.org ช่วยกันคนละไม้คนละมือโลกของเราก็จะดีขึ้น"

ป๊อป ศักยวัชร์ วงศ์รัตนกมล อายุ 22 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า คนที่นี่อยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน เห็นฝูงผีเสื้อนับหมื่นบินว่อน อยากเห็นป่าในเมืองไทยทุกที่เป็นแบบนี้ อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันให้โลกเราดียิ่งขึ้น ผมเองจะนำไปประยุกต์ใช้ที่ถิ่นบ้านเกิดของผมที่เชียงใหม่ และบอกต่อครอบครัวและเพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ ให้ตระหนักถึงวิกฤตที่เรากำลังได้รับ

วรรณ ปิยะวรรณ ตรีรัตนาพร อายุ 22 ปี นักศึกษาปี 4 คณะมนุษยศาสตร์ มศว กล่าวว่า ได้เห็นธรรมชาติที่แท้จริง เห็นความต่างระหว่างสังคมเมืองกับสังคมที่เขาอยู่กับธรรมชาติ โดยเฉพาะอากาศที่ต่างกันชัดเจน ประทับใจมากที่สุดคือได้เห็นสัตว์ป่าในธรรมชาติ การทดสอบสภาพน้ำที่ยังสมบูรณ์ ทำให้เราคิดว่าต้องร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและช่วยกันเปลี่ยนภาวะโลกร้อนให้ดียิ่งขึ้น หรือไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้

วัน วรรณพร เมฆหมอก อายุ 19 ปี นักศึกษาปี 2 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้เห็นต้นน้ำที่ใสสะอาด สมบูรณ์ การได้มาเห็นสถานที่จริงมันดีกว่าการได้เห็นธรรมชาติเพียงแค่ในบทความหรือบทสัมภาษณ์ในหนังสือ อยากฝากว่าการช่วยลดภาวะโลกร้อนอย่าทำเป็นแฟชั่น เมื่อใช้ถุงผ้าก็ต้องปฏิเสธการซื้อของแล้วใส่ถุงพลาสติก กระดาษที่เคยใช้หน้าเดียวให้นำกลับมารีไซเคิลอีกครั้ง

"เพียงคนละไม้ละมือก็จะกลายเป็นความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ค่ะ"


ที่มา  www.thainewsland.com

Tel: 02-727-3503-5, 02-377-5206
Fax: 02-374-7399