กระบวนการประชาธิปไตยที่พลเมืองไทยต้องอดทน:ดร.ถวิลวดี บุรีกุล* สถาบันพระปกเกล้า
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ บทความพิเศษ 6 มิถุนายน 2552
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ และประเทศเหล่านั้นได้มีการมีการยอมรับสถาบันที่มาด้วยวิถีประชาธิปไตยมากขึ้น ประกอบกับการมีแรงผลักดันทั้งจากภายในและภายนอก ทำให้คำว่า "จิตวิญญาณของประชาธิปไตย" ได้แผ่ขยายไปในชุมชนนานาชาติอย่างกว้างขวาง ประชาธิปไตยจึงกลายเป็นระบอบการปกครองที่มีประเทศต่างๆ นำไปใช้ในการปกครองประเทศมากกว่าระบอบอื่นโดยปริยาย จนกระทั่งหากประเทศใดต้องการพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดี มีสุข ทั้งกายและใจ คงต้องมองหากระบวนการที่มุ่งสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ในหลายประเทศที่มีการปรับระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยก็เกิดเห็นผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอยู่พอสมควร แต่การศึกษาด้านนี้ยังไม่เด่นชัดนัก อย่างไรก็ดี คงมีไม่กี่ประเทศที่เมื่อเป็นประชาธิปไตย หรือได้มาซึ่งประชาธิปไตยแล้ว กลับหันเหไปสู่การปกครองรูปแบบอื่นอีก หรือยังคงชื่นชอบกับการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
มีการกล่าวถึงประชาธิปไตยและกระบวนการประชาธิปไตยว่าเกี่ยวข้องกับเสรีภาพ ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการแสดงความต้องการส่วนรวม การพัฒนาคุณธรรมของแต่ละคน การยอมรับความแตกต่างระหว่างมนุษย์แต่ละคน หรือการมีเหตุผล และประสิทธิภาพของการตัดสินใจ ซึ่งก็คือเรื่องคุณภาพของประชาธิปไตยด้วย และเกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมาก คุณค่าของประชาธิปไตยเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนเราต้องการในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ วิธีการที่ได้มาซึ่งคุณค่าเหล่านี้คือการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการยอมรับกันว่าสิ่งที่ประชาธิปไตยมอบให้ประเทศที่นำระบอบการปกครองนี้มาใช้ก็คือ ความเท่าเทียมกันทางการเมือง อิสรภาพของบุคคล หรืออาจมีผลทางอ้อม เช่น การเป็นสถาบันรัฐชาติที่ยั่งยืน การมีโครงสร้างทางการบริหารและกฎระเบียบที่มีเหตุผล มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดสันติภาพทั้งภายในและระหว่างชาติ มีการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการยอมรับการมีนโยบายทางด้านสวัสดิการและการกระจายทรัพยากร
ดังนั้นหากถามว่าประเทศควรจะปกครองอย่างไร สิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบน่าจะเป็นวิธีการปกครองที่สามารถนำประเทศไปสู่สิ่งที่ดีต่อชีวิตของพวกเขาที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน อาทิ สันติสุข หรือการมีเศรษฐกิจดี ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งในบางประเทศที่ผู้นำเก่ง ดี มีคุณธรรม อาจสนองสิ่งนี้ได้โดยไม่ต้องถามว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่เมื่อเปลี่ยนผู้ปกครอง
หรือกลุ่มปกครอง สิ่งที่เคยได้อาจเปลี่ยนไป กติกาประชาธิปไตยจะช่วยนำการปฏิบัติของผู้ปกครองและพลเมืองทุกคนให้มุ่งไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาได้
แต่กระนั้นก็ตามคงไม่มีใครจะประกันได้ว่าประชาธิปไตยจะไม่มีวันนำไปสู่ความยากจนหรือความไม่เท่าเทียมได้ เพราะหากพิจารณาให้ถ่องแท้จะพบว่าผลที่น่ากลัวอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการประชาธิปไตย ที่อาจเป็นเรื่องสังคมที่ถูกแบ่งแยก การเลือกตั้งที่เกิดความขัดแย้งหรือ เรื่องอื่นที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้ นั่นคือกระบวนการแข่งขันทางประชาธิปไตยที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ ที่ แต่คงมีคนบางส่วนที่เกรงว่าการเมืองแบบมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ การพัฒนาเกิดขึ้นยาก นั่นอาจเป็นเรื่องที่มองระยะสั้น เพราะอันที่จริงมันคือกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยของผู้คนในประเทศนั้น ที่สำคัญก็คือ ประชาธิปไตยยังมีข้อดี เพราะมีผลบวกมากมาย มิเช่นนั้นคงไม่เป็นระบอบการปกครองที่ผู้คนทั่วโลกเรียกร้อง
เมื่อกล่าวถึงข้อดีของประชาธิปไตย หลายประเทศในโลกตะวันตกเชื่อว่า ธรรมาภิบาลจะนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือการส่งเสริมประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งสันติสุขในชาติหรือระหว่างชาติ แนวคิดเหล่านี้ไม่ผิด แต่ต้องการการอธิบายทางทฤษฎีและเหตุผลเชิงประจักษ์อีกด้วย นักวิชาการนานาประเทศจึงมีการศึกษากระบวนการประชาธิปไตย ปัญหาของความยั่งยืนของประชาธิปไตย ซึ่งมักจะให้คำตอบเป็นเรื่องของคุณภาพประชาธิปไตย ดังตัวอย่างของประเทศไทยที่ประชาธิปไตยน่าจะยั่งยืนหลังจากการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่กลับเป็นว่าเราถอยหลังไปอีกมากหลังการยึดอำนาจ และต้องมาเริ่มคิดกันใหม่ว่าจะเดินอย่างไรให้ถูกหลักการประชาธิปไตย ท่ามกลางความไม่ลงรอยกันทางความคิดของผู้คนที่เกิดขึ้นชัดเจนหลังจากนั้น
นี่เองประชาธิปไตยจึงมิใช่เป็นเพียงตัวแปรตามหรือผลผลิตของกระบวนการปกครองที่ต้องการการอธิบายที่มาและปัจจัยที่นำมาสู่ประชาธิปไตยอีกต่อไป แต่ยังเป็นตัวแปรอิสระในตัวเองที่อาจจะช่วยอธิบายผลทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองได้อีกด้วย ประชาธิปไตยในที่นี้จึงมิใช่เป็นเป้าหมายสุดท้าย แต่เป็นจุดกำเนิดของผลต่างๆ ที่จะตามมาด้วย
ที่ผ่านมาเรามีความพยายามปฏิรูปการเมือง และเมื่อดำเนินการแล้วก็อยู่ได้ไม่นานพอที่จะเห็นผลของประชาธิปไตยที่พึงปรารถนา จึงมีบางคนกล่าวว่าไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยก็ได้ เพราะกว่าผลจะออกมาก็ทนรอกันไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่เราเห็นกันมักเป็นผลระยะสั้นของประชาธิปไตย ซึ่งอาจแตกต่างจากผลในระยะยาวที่ยั่งยืนกว่า ถ้าเราไม่ตระหนักสิ่งนี้เราก็ค่อนข้างเสี่ยงที่จะได้เห็นผลอันแท้จริงของประชาธิปไตย ยกตัวอย่าง กระบวนการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดี หากการเลือกตั้งสุจริตและเป็นธรรมพอ ประชาชนน่าจะยอมรับผลนั้นได้ เพราะเรายึดหลักเสียงข้างมาก แต่หากประชาชนอีกกลุ่มไม่พอใจ ทนรอไม่ได้ ก่อการประท้วง และทำให้เกิดการเบียดแทรกของการปกครองระบอบอื่น เราย่อมมิได้มีโอกาสเห็นผลของประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวเลย มีผู้กล่าวว่า อย่างน้อยราว 20 ปีของกระบวนการประชาธิปไตยจึงจะเห็นผลที่น่าประทับใจของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ มีอายุของประชาธิปไตยไม่ถึง 5 ปี อาจยังไม่ทันได้ใช้เครื่องมือของประชาธิปไตยในการเอาชนะความไม่เท่าเทียมกันในสังคม หรือบางครั้งที่เราเชื่อว่าประชาธิปไตยจะลดความยากจนได้ แต่กระบวนการยังต้องใช้เวลา การไปลดผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม บางพวกที่เคยได้ เคยผูกขาด คงมีการต่อต้านพอสมควร กระบวนการที่นุ่มนวลและมีเหตุผลจึงจะนำพาประเทศไปถึงจุดหมาย นี่เองประสบการณ์เรื่องประชาธิปไตยจึงสะสมขึ้นในแต่ละประเทศ เพราะกระบวนการประชาธิปไตยต้องฝังรากและเติบโตอย่างสมบูรณ์ต่อไป
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจก่อให้เกิดแรงเสริมที่ทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นและลดความไม่เท่าเทียม ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปกครองที่จะทำให้รักษาสันติสุขไว้ได้ แต่บางครั้งก็แลกกันระหว่างการลดความไม่เท่าเทียมด้วยวิถีประชาธิปไตยกับการชะงักงันทางเศรษฐกิจ หากการแลกเปลี่ยนนี้ยังคงมีอยู่ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยจะยิ่งสำคัญมากขึ้น เนื่องจากผลของประชาธิปไตยที่คาดหวังอาจถูกถ่วงน้ำหนักเมื่อประเมินดูเรื่องความพอใจต่อการปฏิรูปการเมือง ดังนั้นการปฏิรูปคงต้องเดินไปพร้อมกันทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะประชาชนคือผู้รับผลการปฏิรูปนั้น
หากมองไทยอีกครั้ง ประชาธิปไตยได้เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือลดความขัดแย้งโดยลดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมบ้างหรือไม่ หรือเพราะกระบวนการที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่อันที่จริงมันสวนทางกับหลักการที่ควรจะยึดถือ
จากการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าอย่างต่อเนื่อง พบว่ากระบวนการประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานนั้น นำมาสู่ความไม่ไว้วางใจกันของผู้คน เพราะหากมองการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่อธิบายกระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการเลือกตั้งของเราต่างหากที่อาจมีผลต่อความแตกแยก เพราะการแข่งขัน และการมีกติกาที่คนบางกลุ่มไม่อาจยอมรับได้ ผลที่ออกมาจึงไม่เป็นที่ยอมรับในบางช่วงเวลา และนำมาสู่การไม่ยอมรับสิ่งที่ตามมาด้วย
เราจะเต็มใจเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยกันไหม หากกระบวนการที่กำลังดำเนินการลดความไม่เท่าเทียมทางสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของประชาธิปไตย อาจเป็นชนวนของความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ทางออกที่เหมาะสมมีเสมอในสังคมไทย นั่นคือประชาธิปไตยที่ยึดหลักสมานฉันท์สันติสุขของคนในชาติ การเสวนาหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานของประชาธิปไตยจึงมิใช่เรื่องยากหรือทำกันไม่ได้ แต่ขึ้นกับว่าจะทำหรือไม่ หรือจะหารือกันเฉพาะในสภาเท่านั้น
ขณะนี้สังคมไทยกำลังถึงทางแยกตรงนี้ การช่วยลดความขัดแย้งนี้ได้หากผู้ปกครองประเทศ และนักการเมืองเข้าใจบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง และคิดถึงชาติเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับประชาชนที่ต้องอดทน และร่วมมือร่วมใจทำหน้าที่พลเมืองไทย แทนการเป็นเพียงราษฎรที่ถูกเมินเมื่อผลประโยชน์ทุกอย่างลงตัวกันแล้ว และถูกนำมาใช้เมื่อสถานการณ์ตรงกันข้าม.